บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด ประสบความสำเร็จจากการนำไอเดีย “Non-Thermal Processing” มาแปรรูป “ผักสด” ให้เป็น “ผักอัดเม็ด” แต่ยังคงคุณค่าของสารอาหารไว้ครบถ้วน ไม่แตกต่าง…จากการกินผักสด
จากสายงานด้าน “วิศวกรรม” ก้าวข้ามสู่บทบาท “นักธุรกิจ” “เกษคง พรทวีวัฒน์” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกนานพอสมควร กว่าจะเป็นวินค้าผักอัดเม็ดภายใต้แบรนด์ “Bioveggie”
จนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ “Bioveggie” ขึ้นชื่อได้เป็น ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของไทย จนเป็นที่ยอมรับในประเทศและต่างประเทศ ด้วยความสำเร็จจากการการันตีผลงานขององค์กรต่างๆทั้งอาเซียนและในประเทศ อาทิ รางวัล 10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรม ประจำปี 2555 ได้รับคัดเลือกเป็น อันดับ 1 ของ 10 ธุรกิจนวัตกรรมโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รางวัล 7 Innovation Awards 2558 ได้รับรางวัลรองนะเลิศอันดับที่ 1 ด้านสังคม และที่สำคัญในปี 2560 บริษัทประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัล “THAILAND TOP SME AWARDS 2017 : Business Innovation of the Year”
การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปภายใต้บริษัท ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่บนพื้นฐานง่ายๆ คือต้องการใกล้ชิดกับแหล่งผลิตของวัตถุดิบซึ่งก็คือ “โครงการหลวง” สินค้าของ “Bioveggie” วัตถุดิบจึงมากจากโครงการหลวง 100% บวกกับวิสัยทัศน์ที่ต้องการผู้เล่นในสนามธุรกิจที่แตกต่างและต้องตอบโจทย์ทางธุรกิจเพื่อให้การกินผักเป็นเรื่องง่ายแ ใกล้ตัวสำหรับทุกเพศทุกวัย จนนำสู่การแปรรูปผักสด ให้เป็น…ผักอัดเม็ด แน่นอนว่ากระบวนการผลิตหรือกระบวนการแปรรูปอาหารเพื่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดมีมากมายในปัจจุบัน แต่สุดท้ายก็มาจบที่แนวคิด “Non-Thermal Processing”
“เกษคง” อธิบายว่า “วิธีการแปรรูปอาหารภายใต้แนวคิดนี้ คล้ายๆกับการากแห้ง แต่ใช้กระบวนการน้อยกว่านั้นมาก ที่สำคัญยังปลอดภัยจากสารปนเปื้อน”
หลังจากลองผิด…ลองถูก จึงได้สินค้าแปรรูปจากผัก 12 ชนิด ซึ่งเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมแปรรูปผักสดเป็นผักผงและผักอัดเม็ด ทำให้ผู้บริโภคสามารถพกพาติดตัวได้ กินได้ง่ายไม่จำกัดสถานที่ และยังมีอายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ที่นานกว่าผักสด
สินค้าผักแปรรูป…จากการคัดเลือกผักสด 12 ชนิด ที่ผ่านการวิจัยมาแล้วว่าให้สารอาหารครบถ้วน ได้แก่ บีทรูท ปวยเล้ง เซเลอรี่ บรอกโคลี พาร์สลีย์ ฟักทองญี่ปุ่น ผักชีล้อม มะเขือเทศเชอรี่ แครอท กะหล่ำปลีแดง พริกหวาน และ ต้นหอมญี่ปุ่น ผักเหล่านี้ ผ่านกระบวนการจนกลายเป็นผงวิตามิน แล้วมาอักเป็นเม็ด จำนวน 5 เม็ด 5 สี แทนที่จะอัดเป็นเม็ดเดียว เพราะหากอัดเป็ดเม็ดเดียว จะมีขนาดใหญ่และรับประทานยาก ผักอัดเม็ด 5 เม็ด จะได้สารอาหารเทียบเท่าการกินผักสดในปริมาณ 150 กรัม
ถึงแม้สินค้าจะประสบความสำเร็จ มีจุดขายที่โดดเด่น แต่ “เกษคง” มีแผนขยายไลน์สินค้าไปสู่ผลิตภัณฑ์ประเภท “ลูกอม” หรือ “Candy” สำหรับเด็ก เพื่อทำให้เด็กคุ้นชินกับการกินผักตั้งแต่ยังเล็ก ผลิตภัณฑ์นี้ มีส่วนผสมจากผงผัก วิตามินซีและน้ำตาลที่มีสารไม่ทำให้ฟันผุ
นอกจากนี้ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต่อยอดจากนวัตกรรมการแปรรูปผักสดให้เป็น “ผักผง” เพื่อรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ (Non Actives)
ด้วยความเชื่อมั่นว่า เทรนด์การบริโภคในปีนี้ “ผู้บริโภคจะลดการเสพทุกอย่างที่เป็นเคมีเข้าสู่ร่างกายเป็นการต่อต้านสารเคมี และจะมองหาสิ่งดีๆจากธรรมชาติ” อีกทั้งกลุ่มธุรกิจอาหารที่เป็นยาหรืออาหารทางการแพทย์ ในอนาคตจะมีมูลค่าในตลาดโลกสูงถึงประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาน 540,000 ล้านบาท) จากแนวโน้มการเข้าสู่สังคมคนชราของประเทศต่างๆ
การบริโภคอาหารสุขภาพ และ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ล้วนเป็น “Global Mega Trend” ที่ส่งผลดีต่อธุรกิจผักสดแปรรูปในแง่การปูทางสู่ฐานตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก สะท้อนว่า สินค้าที่มีนวัตกรรม ช่วยให้ธุรกิจยั่งยืนและมีผลกำไรที่ดีในระยะยาว
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร Business + ฉบับเดือนกันยายน 2560